วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต


       รัฐไทยต้องให้ความชัดเจนเรื่องการสอดส่องประชาชนบนไลน์และสื่อสังคมอื่น
    
                    จากกรณี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) กล่าวถึงแผนการตรวจสอบการสื่อสารของประชาชนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) วอตซ์แอป (WhatsApp) และไลน์ (LINE) ซึ่ง พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ปอท.จะเลือกตรวจสอบข้อมูลการสื่อสารของบุคคลที่มีแนวโน้มจะกระทำการที่กระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย และอ้างว่าผู้ให้บริการ LINE ตอบรับยินดีให้ความร่วมมือ เครือข่ายพลเมืองเน็ตยืนยันว่า การติดต่อระหว่างบุคคลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นอยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35, 36 และ 45 ที่ว่าด้วยสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยไม่ถูกเปิดเผย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยพยายามสอดส่องประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พูดถึงแผนการจัดซื้ออุปกรณ์ดักข้อมูลเพื่อดักข้อมูลที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
               จากแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อกังวลและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ปอท. ต้องให้ความชัดเจนว่า การขอข้อมูลที่ ปอท.กล่าวถึงนั้น มีข้อมูลอะไรบ้าง
              ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ปอท.ไม่มีสิทธิในการดักฟังการสื่อสารของประชาชน การดักฟังจะทำได้ต่อเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา สำหรับคดีบางประเภทเท่านั้นเท่านั้น
เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความสงสัยว่า การขอ ตรวจสอบข้อมูลการสนทนาของปอท. นั้นหมายถึงการ ดักฟัง หรือ การขอบันทึกการสนทนา (chat log) หรือ ข้อมูลผู้ใช้ (user’s data) ในกรณีที่เป็นการดักฟังนั้น เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า ปอท. ไม่มีสิทธิที่จะทำการดังกล่าว แม้รัฐธรรมนูญไทยปี 2550 มาตรา 36 จะระบุว่า การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทําด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกันจะกระทํามิได้โดยมีข้อยกเว้นสำหรับเรื่องความมั่นคงและการรักษาศีลธรรมอันดี แต่ข้อยกเว้นดังกล่าวสามารถตีความได้กว้างขวาง การอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงจึงต้องมีคำอธิบายที่ละเอียดและชัดเจน การเปิดโอกาสให้เกิดการดักฟังนั้นยังเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิประชาชนในด้านอื่นด้วย  ดังนั้นแม้จะมีการดักฟังซึ่งชอบด้วยกฎหมายก็ควรเป็นไปโดยระมัดระวังและใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

2. ผู้บริการการสื่อสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
นโยบายของไลน์ระบุข้อยกเว้นของการให้ข้อมูลแก่บุคคลที่สามไว้คือข้อหนึ่งคือ บริษัทจะไม่มอบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการให้กับบุคคลที่สาม ยกเว้นในกรณีที่บริษัทได้รับคำร้องขอความร่วมมือจากสถาบันของรัฐ รัฐบาลท้องถิ่น หรือบุคคล หรือผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ และการให้ผู้ใช้ยินยอมก่อนจะเป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันก็ได้ระบุไว้ในหน้าความช่วยเหลือต่อคำถามที่ว่าบุคคลที่สามสามารถ แอบดูเนื้อหาของการสนทนาได้หรือไม่ว่า ไม่ได้ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในการสนทนาไม่สามารถเห็นสิ่งที่คุณพิมพ์ได้ ไลน์ปลอดภัย ในประเทศไทย ไลน์เป็นที่นิยมมาก มีผู้ใช้ในประเทศไทยมากกว่าสิบห้าล้านคน เครือข่ายพลเมืองเน็ตเรียกร้องให้บริษัท Naver Japan ผู้ให้บริการไลน์ ปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ชาวไทย และต้องไม่ให้ข้อมูลหรือบันทึกการสนทนาของผู้ใช้ต่อรัฐไทยโดยไม่ทำตามกระบวนการทางกฎหมาย

3. ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการตามที่ระบุในกฎหมาย และหยุดการ ขอความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ วัฒนธรรมการ ขอความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ
 ส่งผลเสียในทางปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากหลักฐานการขอความร่วมมือและข้อมูลที่ได้ อาจไม่ถูกจัดเก็บในสารบบ ทำให้ประชาชนยุ่งยากขึ้นในการใช้สิทธิขอข้อมูลตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐ เปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล กรณีของบริษัท Naver นั้น ผู้ให้บริการอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและไม่ได้หน้าที่ต้องตอบสนองต่อกฎหมายไทย ซึ่งปอท.อาจเลือกวิธีขอความร่วมมือ แทนการใช้คำสั่งศาล เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ปอท.ต้องใช้กระบวนการอย่างเป็นทางการ และหยุดขอความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ

4. ตำรวจและรัฐบาลไทย ต้องหยุดการกระทำที่ทำให้เกิดความกลัวในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งหยุดการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างพร่ำเพรื่อ
 เครือข่ายพลเมืองเน็ตมองว่า การะกระทำของรัฐบาล ทั้งการให้ข่าวว่าจะทำ หรือการกระทำจริงๆ ล้วนทำให้เกิดผลเสียต่อบรรยากาศโดยรวมของกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้เน็ตตกอยู่ในความกลัวและความไม่แน่ใจ รัฐบาลควรหยุดการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างพร่ำเพื่อและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิม จากสถิติจะเห็นได้ว่า คดีส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือการปล่อยข่าวลือบนอินเทอร์เน็ต ที่ล้วนมีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว
5. เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อเสนอแนะในการรับมือกับข่าวลือซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือรัฐบาล
              มีวิธีการอันเป็นสากลมากมายในการรับมือกับข่าวลือ โดยไม่ต้องใช้มาตราการอันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพหรือทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว เช่น การชี้แจงข้อมูลตามความเป็นจริงต่อสาธารณะ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยควรเคารพความสามารถในการพิจารณาของประชาชน แทนที่จะใช้มาตราการสอดส่องที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิ
อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน การกระทำที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นส่วนตัว จะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ และกระทบกิจวัตรประจำวันของผู้คนที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น


          




                   
                                                    


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น